Hot Topic!
กรมศุลฯแจงเงินสินบน ก.ม.ใหม่ปรับน้อยลง
โดย ACT โพสเมื่อ Sep 13,2017
- - สำนักข่าวไทยรัฐ - -
กรมศุลกากร ได้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเลขที่ กค.0516/11962 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ลงนามโดยนางสาว ภัทริยากุลชล ผู้อำนวยการกลุ่มคุ้มครองและส่งเสริมจริยธรรม ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากรขอชี้แจงประเด็นที่เป็นข่าวดังนี้
ประเด็นที่ 1 กรณีเงินสินบนและเงินรางวัล เงินรางวัลที่สังคมมีความคลางแคลงใจมาเป็นเวลานานดังนั้นในการจัดทำ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ ได้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์ และปรับลดการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลจากเดิมที่มีการจ่ายร้อยละ55 จากเงินค่าปรับและไม่มีการกำหนดเพดานการจ่ายเงินไว้ทำให้ไม่เกิดความยุติธรรม
...เป็นการจ่ายเงินรางวัลร้อยละ20 และเงินสินบนร้อยละ20 (ให้มีการจ่ายได้เฉพาะของที่ลักลอบนำเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมายเท่านั้น)โดยหักจ่ายจากเงินค่าขายของกลาง หรือหักจ่ายจากเงินค่าปรับในกรณีที่ไม่สามารถจำหน่ายของกลางได้
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดเพดานโดยกำหนดให้หักจ่ายเป็นเงินสินบนได้ไม่เกินคดีละ 5 ล้านบาท และหักจ่ายเป็นเงินรางวัลได้ไม่เกินคดีละ 5 ล้านบาทและไม่สามารถแบ่งคดีเดียวให้เป็นคดีย่อยๆได้...สำหรับประเด็นนี้สกู๊ปหน้า1 ขอเรียนกรมศุลกากรว่ากรณีการปรับแก้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่นั้นสื่อมวลชนทุกแขนงได้เผยแพร่ข่าวสารดังกล่าวอย่างแพร่หลายต่อเนื่องเป็นที่รับทราบกันดีอยู่แล้ว
แต่...ที่นำเสนอคือความเป็นมาของพ.ร.บ.ศุลกากรฉบับเดิม ซึ่งบังคับใช้มานานและเป็นมูลเหตุของปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆ ตามมามากมายไม่ว่าการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเองถูกฟ้องร้องหรือถูกตรวจสอบเสมอมาหรือมีคดีความระหว่างเอกชนกับกรมศุลกากรที่มีตามมาอีกมากมายหลายคดีจนเป็นที่มาของการแก้ไขปรับเปลี่ยน พ.ร.บ.ศุลกากร ฉบับ 2560 ฉบับใหม่นี้ขึ้นมา
ก่อนที่จะแก้ไขปรับเปลี่ยน พ.ร.บ.ศุลกากร 2560 ว่าไปแล้ว...ในบรรดาหน่วยงานที่ได้รับเงินรางวัลนำจับ "กรมศุลกากร" เป็นหน่วยงานที่ได้มากที่สุดยิ่งเศรษฐกิจดีการนำเข้า-ส่งออกมากรายได้ยิ่งมาก เพราะอัตราเงินสินบน...รางวัลนำจับสูงถึง 55% ได้มากกว่าภาษีเข้าคลังเสียอีก
สมผล ตระกูลรุ่ง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ พ.ร.บ.ศุลกากร บอกว่ามีผู้รวบรวมจำนวนเงินรางวัลนำจับของกรมศุลกากรไว้ในช่วงเวลา 12 ปีระหว่างปี 2542-2553 มีผู้ประกอบการยอมจ่ายค่าปรับให้กรมศุลกากรคิดเป็นเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท...จึงเป็นเงินรางวัลนำจับให้เจ้าหน้าที่และสายสืบเป็นเงินมากกว่า 15,343 ล้านบาท...เจ้าหน้าที่ที่ได้รับเงินจำนวนนี้ไม่เกิน 300 คน...ส่วนสายสืบนั้นไม่มีข้อมูล
"...มีแต่เสียงร่ำลือหนาหูว่าสายสืบส่วนใหญ่ไม่มีจริงที่เห็นนั้นเป็นสายสืบเทียมแม้การตามเรียกเก็บภาษีจะไม่มีสายสืบแต่เจ้าหน้าที่ก็จะสร้างสายสืบขึ้นมารับเพื่อให้ได้เงินสินบน-รางวัลนำจับครบ 55 เปอร์เซ็นต์" ทนายสมผลบอกอีกว่าเงินสินบน...เงินสินบนรางวัลนำจับกฎหมายไม่ได้จำกัดว่าต้องมาจากการเสี่ยงชีวิตกลางทะเลหรือตะเข็บชายแดนตามป่าเขาด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรกลุ่มหนึ่ง จึงใช้วิธีการจับผิดแทนการจับกุม
"เพียงแต่หากสามารถตีความให้ผิดได้แม้จะเป็นการตีความแบบศรีธนญชัย ก็จะเรียกประเมินภาษีเพราะรู้ดีว่าผู้ประกอบการไม่อยากมีเรื่องกับกรมศุลกากร"
ประเด็นที่2 กรมศุลกากรได้ชี้แจงกรณีพิพาทการเรียกค่าภาษีอากรกว่าหมื่นล้านบาทระหว่างค่ายรถยนต์หนึ่งกับกรมศุลกากรนั้น เป็นคดีเกิดขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2555 และได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลในปี พ.ศ.2558ปัจจุบันคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งคู่กรณีมีสิทธิเสรีภาพและมีศักยภาพในการต่อสู้คดีและดำเนินคดี
ประเด็นนี้...ขอเรียนว่าด้วยจำนวนเงินค่าปรับมีมูลค่ามหาศาล ประกอบกับค่ายรถยนต์ดังกล่าวถือเป็นค่ายรถยนต์ระดับโลกสื่อมวลชนต่างชาติ โดยเฉพาะชาติคู่กรณีจับตาเป็นพิเศษเหตุเพราะผลการตัดสินจะออกมาอย่างไรย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจไทยโดยรวม...
ที่สำคัญ...ความฝันต่อยอดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของพลเอกประยุทธ์นายกรัฐมนตรีอาจไปไม่ถึงฝั่ง...หากเป็นกรณีเจตนาชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีก็น่าสรรเสริญแต่หากมีเจตนาตีความเพื่อให้ผู้ประกอบการสุจริตต้องเสียภาษีโดยใช้อำนาจตามกฎหมายตีความให้เป็นความผิด...
ผู้เชี่ยวชาญ พ.ร.บ.ศุลกากร มองว่าคดีดังกล่าวสังคมและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะไม่ว่าคำพิพากษาศาลจะออกมาเป็นเช่นไร ภาครัฐก็เกิดความเสียหาย
"คงต้องให้ความเป็นธรรมกับทางเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและค่ายรถยนต์ ถ้ามีการหลีกเลี่ยงภาษีจริงค่ายรถยนต์ก็ต้องรับผิดชอบแต่หากไม่ใช่การเลี่ยงภาษีเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินจะรับผิดชอบอย่างไร ถ้าค่ายรถยนต์แพ้ต้องใช้เงินจำนวนมากขนาดนี้...คงย้ายฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านที่พร้อมจะรับการลงทุนอภิมหาโปรเจกต์ขนาดนี้...เพราะเหตุผลคงไม่ใช่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ค่ายรถยนต์ระดับโลกดังกล่าวไม่อาจยอมรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรได้"
ผู้เชี่ยวชาญ พ.ร.บ.ศุลกากร ย้ำว่าสำหรับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรถ้าชนะจะได้รับเงินรางวัลนำจับหลายพันล้านบาท แม้จะแบ่งให้อธิบดีหลายคนทั้งในอดีตและปัจจุบันตามบัญชีแม้จะแบ่งกันทั้งกรม ก็คงมีเงินเหลือเป็นกอบเป็นกำ แต่ถ้าแพ้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติก็รับราชการกินเงินเดือนจากภาษีอากรต่อไป โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรแถมได้ความดีความชอบไป...แล้วด้วยเหตุผลอย่างนี้จึงทำให้เจ้าหน้าที่บางกลุ่มบางพวกขยันจนเกินเหตุ?
"การขยันโดยทุจริตของข้าราชการบางคนขอเน้นว่าบางคนเพราะคนที่ดีๆ ยังมีอยู่ก็เยอะสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการสุจริตจำนวนมาก เท่าที่ทราบผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ลงทุนด้านอุตสาหกรรมรายใหญ่จำใจยอมเสียภาษีและค่าปรับจากขบวนการเหล่านี้มานานแล้ว จนปัจจุบันจำนวนภาษีที่ถูกเรียกร้องมีจำนวนสูงมากดังกรณีรายค่ายรถยนต์ดังกล่าว ซึ่งจะเป็นกรณีศึกษาที่ภาครัฐจะต้องลงมาปฏิรูประบบการทำงานของกรมศุลกากรให้โปร่งใส" สมผลว่า "ในความเป็นจริงแล้วปัญหานี้สามารถแก้ไขโดยผู้บริหารของกรมศุลกากรได้มานานแล้ว แต่ใครก็ตามที่แม้จะรู้ปัญหาพอเข้ารับตำแหน่งก็จะมีชื่อเป็นผู้รับผลประโยชน์ก้อนโต จากรางวัลนำจับก็จะมองไม่เห็นปัญหาไม่คิดจะแก้ไขไม่ยับยั้งขบวนการที่เป็นเหลือบในหน่วยงานแม้จะมีอำนาจแก้ไขได้ก็ตาม"
"เงินรางวัลนำจับ" จึงเป็นดาบ 2 คมในแง่ดีเป็นการกระตุ้นให้ข้าราชการขยันทำงานแต่ในอีกแง่มุมหนึ่งจะทำให้เกิดการใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ โดยมิชอบของข้าราชการที่มีความโลภเป็นการใช้กฎหมายใช้อำนาจหน้าที่ตามอำเภอใจ
ผลร้ายจะตกกับประเทศที่ทำให้ผู้ประกอบการเห็นว่าข้าราชการไทย ไม่มีมาตรฐานในการทำงาน...ถ้าเป็นอย่างนี้คงไม่มีใครอยากจะมาลงทุนเป็นแน่.
"เงินรางวัลนำจับ" จึงเป็นดาบ 2 คมในแง่ดีเป็นการกระตุ้นให้ข้าราชการขยันทำงานแต่ในอีกแง่มุมหนึ่งจะทำให้เกิดการใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ โดยมิชอบของข้าราชการที่มีความโลภเป็นการใช้กฎหมายใช้อำนาจหน้าที่ตามอำเภอใจผลร้ายจะตกกับประเทศที่ทำให้ผู้ประกอบการเห็นว่าข้าราชการไทยไม่มีมาตรฐาน.....
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน